บล็อกนี้เป็นการทำขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนการสอน รายวิชา อินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ของ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

สวยงามตามภาพ

วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์


จอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ พลตำรวจเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (16 มิถุนายน พ.ศ. 2451 — 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506) เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งจนถึงแก่อสัญกรรม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมผู้บัญชาการทหารบกและอธิบดีกรมตำรวจ เป็นผู้ริเริ่มการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและเป็นผู้ก่อตั้งสำนักงบประมาณ เจ้าของคำพูดที่ว่า "พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ"[1] และ "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว"
จอมพลสฤษดิ์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากการแปลวรรณกรรมกัมพูชามาเป็นภาษาไทย[2][3][4] ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษฎ์ได้ให้การสนับสนุนผู้มีอำนาจลาว นายพลพูมี หน่อสะหวัน ในการต่อสู้กับกองโจรคอมมิวนิสต์ปะเทดลาว ในราชอาณาจักรลาว

บทบาททางการเมือง

ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2500 ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อันเป็นรัฐบาลชุดสุดท้ายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่อยู่ในตำแหน่งนั้นได้เพียง 10 วัน ก็ลาออก โดยสาเหตุการลาออกนั้นเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500[10] ซึ่งมีการกล่าวขานว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก มีการโกงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการใช้อันธพาลที่เรียกโดยสุภาพในขณะนั้นว่า "ผู้กว้างขวาง"[11] ซึ่งผลก็คือ พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับเสียงข้างมาก จึงสามารถดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางความวุ่นวายอย่างหนัก จากการเดินประท้วงของนักเรียนนักศึกษาและประชาชนเป็นจำนวนมาก เรียกร้องให้จอมพล ป. พิบูลสงครามและพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ลาออกจากตำแหน่ง
ในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อสถานการณ์ลุกลาม เกิดความวุ่นวายอย่างหนัก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แต่งตั้งให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ เพื่อคอยควบคุมสถานการณ์ แต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์สั่งการไม่ให้ทหารทำอันตรายประชาชนที่เดินขบวนชุมนุมประท้วง และยังเป็นผู้นำประชาชนเข้าพบจอมพล ป. ที่ทำเนียบอีก ทำให้กลายเป็นขวัญใจของประชาชนทันที จนได้รับฉายาในตอนนั้นว่า "วีรบุรุษมัฆวานฯ"[12]
ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าว และเห็นว่ารัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามขาดความชอบธรรมที่จะปกครองบ้านเมืองแล้ว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จึงประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม[13] คงเหลือแต่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเพียงอย่างเดียว
เนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงครามต้องการจะรักษาอำนาจต่อไป จึงทำให้มีทั้งนายทหารและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งประเภท 1 และประเภท 2 ที่เคยสนับสนุนรัฐบาลบางส่วนลาออก บางส่วนแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ยอมร่วมสังฆกรรมด้วยอีกต่อไป ต่างก็พากันไปร่วมมือกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีเป้าหมายคือให้จอมพล ป. พิบูลสงครามและพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ลงจากอำนาจ
ในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และคณะทหารยื่นคำขาดต่อจอมพล ป. พิบูลสงครามให้รัฐบาลลาออก แต่ได้รับคำตอบจากจอมพล ป. พิบูลสงครามว่า ยินดีจะให้รัฐมนตรีลาออก แต่ตนจะขอเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลเอง[14] ยิ่งสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้พูดผ่านวิทยุยานเกราะถึงผู้ชุมนุมในเหตุการณ์นี้ โดยมีประโยคสำคัญที่ยังติดปากมาจนทุกวันนี้ว่า "พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ"[15]
จนเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2500 ประชาชนพากันลุกฮือเดินขบวนบุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล เมื่อไม่พบจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงพากันไปที่บ้านจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็กำลังจะเตรียมจับกุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในข้อหากบฏที่สนับสนุนให้ผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลแต่ยังไม่ทันที่ดำเนินการใด ๆ
ในคืนวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจโค่นล้มจอมพล ป. พิบูลสงครามออกจากตำแหน่ง ในคืนนั้นเอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ได้ลี้ภัยไปต่างประเทศ ท่ามกลางความยินดีของประชาชนชาวไทย รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามจึงได้สิ้นสุดอย่างสิ้นเชิงนับแต่นั้น
หลังจากการยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามแล้ว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เห็นว่า ไม่เหมาะสมที่ตนเองจะขึ้นครองอำนาจ ประกอบกับมีปัญหาสุขภาพ จึงตั้งนายพจน์ สารสิน ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากรัฐบาลนายพจน์ สารสินจัดการเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อย พลโทถนอม กิตติขจร ก็รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 แต่กาลต่อมา ได้เกิดความวุ่นวายจากความขัดแย้งระหว่างสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับรัฐมนตรีขึ้นในรัฐบาลพลโทถนอม กิตติขจร และพลโทถนอม กิตติขจรก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จึงเดินทางกลับจากต่างประเทศแล้วร่วมมือกับพลโทถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ยึดอำนาจรัฐบาลของตนเอง

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 หลังจากการทำรัฐประหารรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร
ในช่วงที่บริหารประเทศ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ประกาศยกเลิกสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ เช่น พรรคการเมืองลง โดยกล่าวว่า "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" ทั้งยังได้สร้างผลงานทั้งทางด้านการปรับปรุงการบริหารและการพัฒนาประเทศไว้มากมาย ผลงานที่สำคัญ ๆ ได้แก่ การออกกฎหมายเลิกการเสพและจำหน่ายฝิ่นโดยเด็ดขาด กฎหมายปราบปรามพวกนักเลง อันธพาล กฎหมายปรามการค้าประเวณี และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ ทำการศึกษา ค้นคว้า วิจัย จนกระทั่งได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศฉบับที่ 1 (ปี พ.ศ. 2504 - พ.ศ. 2509) ซึ่งแผนดังกล่าวเป็นแม่แบบของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน มีการสร้างสาธารณูปโภคสำคัญที่เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต เช่น ไฟฟ้าประปาถนน ให้กระจายไปทั่วทั้งในเมืองและชนบท ซึ่งเรียกว่า "น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก"
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ด้วยโรคไตพิการเรื้อรัง รวมอายุได้ 55 ปี และเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวที่เสียชีวิตลงในขณะที่ดำรงตำแหน่ง[16] ซึ่งหลังการเสียชีวิตสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยได้เปิดเพลง "พญาโศก" เป็นการไว้อาลัยแก่ท่านด้วย[17]
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีฉายาว่า "จอมพลผ้าขาวม้าแดง" นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งที่อยู่ในความทรงจำของคนไทย[18] เพราะตลอดระยะเวลาที่ครองตำแหน่งและมีบทบาท ท่านได้ใช้มาตรการเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด เพื่อจัดการความสงบเรียบร้อยของประเทศ เช่น ประหารชีวิตเจ้าของบ้านทันที หลังจากบ้านใดเกิดเพลิงไหม้ เพราะถือว่าเป็นการก่อความไม่สงบ การใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 17 การปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นผู้ที่รื้อฟื้นกิจกรรมที่แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น จัดงานเฉลิมฉลองวันพระราชสมภพ การสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ การประดับไฟบนถนนราชดำเนินในวันเฉลิมพระชนม์พรรษาเป็นต้น[19]
นอกจากนี้แล้ว ในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพลสฤษดิ์ ประเทศไทยได้เกิดมีกรณีพิพาทกับประเทศกัมพูชา เพื่อนบ้าน ในกรณีประสาทเขาพระวิหาร ในศาลโลก ซึ่งก่อนหน้านั้นได้มีการเรื่ยรายเงินบริจาคจากประชาชนชาวไทยคนละ 1 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในศาลโลก[20] ซึ่งในคำตัดสินของศาลโลก ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2505 ได้ตัดสินให้ตัวปราสาทเขาพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา ซึ่งหลังจากทราบคำตัดสินของศาลโลกแล้ว จอมพลสฤษดิ์ได้มีแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้แก่ประชาชนชาวไทยด้วยตนเองผ่านทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย[21]

[แก้]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น